ปิโตเลียม

 เมื่อมีการสำรวจพบแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ผิวดิน 3-4 กิโลเมตร แล้วผลิตขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ มันก็จะมีทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซคอนเดนเสท และน้ำ ปนๆกันขึ้นมา  แหล่งไหนที่พบน้ำมันดิบมากกว่า

ก๊าซ ก็มักจะเรียกแหล่งปิโตรเลียมนั้นว่า แหล่งน้ำมัน  เช่น แหล่งน้ำมันดิบสิริกิติ์  ส่วนแหล่งไหนที่พบก๊าซมากกว่าน้ำมันดิบ ก็มักจะเรียกแหล่งปิโตรเลียมนั้นว่า แหล่งก๊าซ เช่น แหล่งก๊าซบงกช แหล่งก๊าซเอราวัณ 

ในอ่าวไทย  เป็นต้น


    ก๊าซธรรมชาติที่พบนั้น ก็แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. “ก๊าซแห้ง” หรือ “dry gas” ที่มีน้ำหนักเบาสุด มีองค์ประกอบของมีเทน เป็นส่วนใหญ่ และ 2. “ก๊าซเปียก” หรือ “wet gas” ส่วนใหญ่มีองค์ประกอบของก๊าซธรรมชาติเหลว เช่น อีเทน โพรเพน บิวเทน เพนเทน และเฮกเซน ที่เหมาะสำหรับการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี


    ประเทศไทยเราโชคดีที่ก๊าซธรรมชาติที่ค้นพบในอ่าวไทยส่วนใหญ่เป็นก๊าซเปียก ดังนั้น จึงมีการส่งก๊าซจากแหล่งปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทานทั้งหลายในอ่าวไทยผ่านมาทางท่อขึ้นฝั่งที่มาบตาพุด เข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อแยกเอาส่วนที่เป็นมีเทนไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า  โรงงานอุตสาหกรรม หรือถ้าเอาไปเพิ่มความดัน (Compressed  Natural Gas) หรือ CNG บรรจุใส่ถังใช้ในรถยนต์ ที่เราก็มักจะเรียกว่า ก๊าซ NGV


    ส่วนที่เป็นอีเทน โพรเพน บิวเทน เพนเทน และเฮกเซน  ก็จะส่งเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี  ผลิตเป็นเม็ดพลาสติก ในขณะที่โพรเพนที่ผสมกับบิวเทน ก็กลายเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas : LPG) ที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคครัวเรือน  หรือที่รู้จักกันว่า ก๊าซหุงต้ม  ถ้าไปเติมใช้ในรถยนต์ก็มักเรียกว่า แก๊สรถยนต์ หรือ แก๊ส  ส่วนนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะเรียกว่า “ก๊าซแอลพีจี”


    ในสายของน้ำมันดิบและคอนเดนเสท นั้น ก็จะส่งเข้าโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปชนิดต่างๆ เช่น ดีเซล เบนซิน น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา และน้ำมันก๊าด รวมถึงยางมะตอย เพื่อนำไปใช้ในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม  โดยในกระบวนการกลั่นนั้นยังได้ก๊าซ LPG ออกมาเป็นผลพลอยได้อีกทางหนึ่งด้วย

แม้ว่าประเทศไทยจะมีแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ โดยผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบได้เอง  แต่ในข้อเท็จจริงนั้น ปริมาณที่ผลิตได้ก็ยังถือว่าไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้ในแต่ละวัน ทำให้ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อเสริมความมั่นคง


   ก๊าซธรรมชาติ ที่นำเข้าในรูปก๊าซนั้น มาจากประเทศเมียนมา ผ่านทางท่อส่งก๊าซไทย-เมียนมา ทางฝั่งภาคตะวันตกของประเทศ ส่วนก๊าซธรรมชาติ ที่นำเข้าจากประเทศที่อยู่ไกลออกไป จะนำเข้ามาในรูปของก๊าซธรรมชาติที่เปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว ที่เรียกว่า Liquefied natural gas หรือ LNG ซึ่งขนส่งมาทางเรือขน LNG โดยเฉพาะ และมีสถานีรับจ่าย LNG เป็นของปตท. อยู่ที่มาบตาพุด จ.ระยอง


  ส่วนน้ำมันดิบที่นำเข้านั้น ส่วนใหญ่จะมาจากแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลาง ที่มีคุณสมบัติเหมาะกับสเปคของโรงกลั่นไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 85% ของความต้องการใช้  เช่นเดียวกับก๊าซ LPG ที่ต้องมีการนำเข้ามาด้วยเพราะที่ผลิตได้ทั้งจากโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นนั้นไม่เพียงพอกับความต้องการใช้

 

ที่มา : ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy New Center
Visitors: 129,036